🚩 จากข้อมูล Systems Change Lab โดย World Resources Institute บ่งชี้ว่า ในปีค.ศ. 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 จนทำให้เศรษฐกิจโลกต้องหยุดชะงัก ทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) ถึง 58.5 กิกะตัน และในปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาที่ 190 ประเทศได้ยอมรับข้อตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2015 เเม้ว่าหลายประเทศทั้งที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาได้เริ่มพัฒนาแผนระยะยาวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนต่างๆ เช่น พลังงาน ไฟฟ้าและความร้อน อุตสาหกรรม การขนส่ง และการเกษตร นั่นแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการสิ่งเเวดล้อมอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มประเทศที่ปัจจุบันมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้วทั้งหมด 8 ประเทศ โดย World Economic Forum ได้รวบรวมข้อมูลและสรุป ดังนี้
✅️ 1. ภูฏาน (Bhutan)
การทำฟาร์มเพื่อยังชีพ การทำป่าไม้อย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของภูฏาน อาณาจักรแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ดำเนินนโยบายส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่า อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครองครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินที่อยู่อาศัย ทำให้สัตว์ป่าสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกันได้ โดยปราศจากการขัดขวางจากมนุษย์
✅️ 2. คอโมโรส (Comoros)
หมู่เกาะภูเขาไฟขนาดเล็กแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียนอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมีประชากร 800,000 คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองชายฝั่งหลักของเกาะทั้งสี่ มีการปล่อยมลพิษต่ำจากการเกษตร การประมง และการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งประเทศ ประกอบกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเกือบหนึ่งในสี่ของผืนดิน ช่วยสนับสนุนสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
✅️ 3. กาบอง (Gabon)
ป่าฝนคองโกครองพื้นที่กว่า 88% ของผืนดินของกาบองในแอฟริกากลาง เนื่องจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการไม่ตัดไม้ทำลายป่าและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กาบองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคองโกซึ่งเป็นหนึ่งใน 'แหล่งกักเก็บคาร์บอน' ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กาบองปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อยในขณะที่ดูดซับในปริมาณมาก UN ยกให้กาบองเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
✅️ 4. กายอานา (Guyana)
กายอานาเป็นอีกประเทศที่อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ล้อมรอบด้วยป่าฝนอเมซอน หลังจากบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ประเทศนี้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซลงอีก 70% ภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม กายอานาเองได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหม่ของโลกในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งอาจมีความท้าทายมากขึ้นในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระเป็นสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต
✅️ 5. มาดากัสการ์ (Madagascar)
เกาะมาดากัสการ์ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาและพึ่งพาการเกษตรและการประมงเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การตัดไม้ทำลายป่าขนาดใหญ่ทำให้หนึ่งในสี่ของพื้นที่ป่าของทั้งประเทศหายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ตามรายงานของ Global Forest Watch นอกจากนี้ หากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป มาดากัสการ์จะกลายเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิภายในปี ค.ศ. 2030
✅️ 6. นีวเว (Niue)
นีวเวเป็นเกาะปะการังเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรในท้องถิ่นราว 2,000 คน และยังมีอีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ การประมง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัก อย่างไรก็ตาม ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเกาะนีวเวมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ความเป็นกรดของมหาสมุทร และพายุไซโคลน ตัวอย่างเช่น เดือนมกราคม ปีค.ศ. 2004 เมืองหลวงของนีวเวได้ถูกทำลายโดยพายุไซโคลนเฮตะ ระดับ 5 เป็นต้น
✅️ 7. ปานามา (Panama)
จากการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ปานามาได้ร่วมมือกับประเทศซูรินาม (Suriname) และภูฏาน (Bhutan) ในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ (Carbon-Negative) โดยได้เรียกร้องให้มีการสนับสนุนการค้า การกำหนดราคาคาร์บอน และกระตุ้นให้มีความพยายามมากขึ้นในการที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วยจำนวนประชากร 4.5 ล้านคน พื้นที่ประมาณ 65% ของพื้นที่ปานามาปกคลุมด้วยป่าฝน และรัฐบาลมีแผนที่จะปลูกป่าในพื้นที่ 50,000 เฮกตาร์ภายในปีค.ศ. 2050 เพื่อเพิ่มความสามารถในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink)
✅️ 8. ซูรินาม (Suriname)
ซูรินามเป็นประเทศเล็กๆ ในป่าอเมซอน เป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้มากที่สุดในโลก โดยมีป่าไม้ปกคลุมถึง 93% ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าไม้ของซูรินามดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันและสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยรักษาระบบนิเวศป่าไม้
🚩 เเหล่งที่มาของข้อมูลและรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: facebook.com/netzerotechup
Blockdit: blockdit.com/netzerotechup
Tiktok: tiktok.com/@netzerotechup
Twitter: twitter.com/NetZeroTechup
Instagram: instagram.com/netzerotechup
Youtube: youtube.com/@netzerotechup
Comments