🚩 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานปี 2565 พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 247.7 ล้านตันคาร์บอน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในภาคขนส่งและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและการเดินทางที่มากขึ้น อีกทั้งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการหลังรัฐยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการพลังงานเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.4% และเมื่อรวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 โดยด้านการผลิตในสาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว ส่วนในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
🚩 โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงาน ดังนี้
🔹️ ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อย CO2 อยู่ที่ 79.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 14.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
🔹️ ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อย CO2 อยู่ที่ 66.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 6.7%
🔹️ ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อย CO2 อยู่ที่ 87.9 ล้านตัน ลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
🔹️ ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ ภาคธุรกิจและครัวเรือน จะมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีการปล่อย CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ รวม 13.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.4%
หากพิจารณาการปล่อยก๊าซ CO2 แยกตามรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2565 พบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 42% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 30% และ 28% ตามลำดับ ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.2% ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ ลดลง 9% และ 3.1% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2565 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
🚩 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) สหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.03 พันตันคาร์บอน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.29, 2.28, 2.11, และ 2.90 พันตันคาร์บอน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ แต่จะช้าหรือเร็วแค่ไหนต้องติดตามดูกันต่อไป
🚩 แหล่งที่มาของข้อมูลเเละรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: facebook.com/NetZeroTechup
Tiktok: tiktok.com/@netzerotechup
Twitter: twitter.com/NetZeroTechup
Instagram: instagram.com/netzerotechup
Comments