🚩 ย้อนกลับไปที่การประชุม COP21 ในปี ค.ศ. 2015 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่าความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส ก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติต่างๆ ที่ตามมา การประชุม COP26 จึงทำให้นานาประเทศต่างประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 แล้วความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมถึงต้องใช้เวลาแตกต่างกันถึง 15 ปี กว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
🚩 ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ สภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่
✅️ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel)
✅️ (2) “ดูดกลับ” ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink)
✅️ (3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) เช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต
🚩 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้ เเต่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ห่างกันถึง 15 ปี เนื่องจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตัดกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตออกไปนั้นเอง
🍀 ดังนั้น Net Zero Emissions จะมีมิติที่กว้างกว่าเละเข้มงวดกว่า Carbon Neutrality คือ พิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) จะเห็นได้ว่าความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมาก Net Zero Emissions เป็นเป้าหมายที่ตั้งในระดับประเทศ หรือหากเป็นเป้าหมายระดับองค์กรตามคำนิยามที่เห็นพ้องกันต้องมีการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายมากกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน
🚩 เเหล่งที่มาของข้อมูลและรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: facebook.com/netzerotechup
Blockdit: blockdit.com/netzerotechup
Tiktok: tiktok.com/@netzerotechup
Twitter: twitter.com/NetZeroTechup
Instagram: instagram.com/netzerotechup
Youtube: youtube.com/@netzerotechup
Comentários