🚩 กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (The U.S. Department of Energy: DOE) และสำนักงานบริหารความมั่นคงทางนิวเคลียร์แห่งชาติ (National Nuclear Security Administration: NNSA) ได้ประกาศความสำเร็จของการจุดระเบิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ณ ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (Lawrence Livermore National Laboratory: LLNL) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2022
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้ทำการทดลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ณ ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (LLNL) ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Inertial Confinement Fusion (ICF)" โดยการระดมยิงไฮโดรเจนพลาสมาเม็ดเล็กๆ ด้วยเลเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จนมีอุณหภูมิเเละความดันสูงขึ้นเกิดเป็นปฏิกิริยาฟิวชั่น ส่งผลทำให้ได้รับพลังงานสุทธิเพิ่มขึ้น
ผลจากการทดลองโดย LLNL พบว่า หลังจากยิงเเสงเลเซอร์ขนาดพลังงาน 2.05 MJ ไปยังไอโซโทปของไฮโดรเจน ส่งผลให้มีการปลดปล่อยพลังงานฟิวชั่นขนาด 3.15 MJ หรือเรียกพลังงานนี้ว่า Inertial Fusion Energy (IFE) เเสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการวิเคราะห์
🚩 ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น เป็นกระบวนการที่นิวเคลียสของอะตอมรวมตัวกันเป็นนิวเคลียสของอะตอมที่หนักกว่าในขณะที่ปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมา ปฏิกิริยาฟิวชันไม่ปล่อยคาร์บอน ไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตภาพรังสีที่มีอายุยืนยาว และใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในปริมาณน้อยมากเพียงถ้วยเล็กๆ เท่านั้น ในทางทฤษฎีสามารถให้พลังงานไฟฟ้าแก่บ้านเรือนได้เป็นเวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ ปฏิกิริยาฟิวชั่นยังเป็นแหล่งพลังงานของดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลาย โดยเปลี่ยนมวลเป็นพลังงานจากการหลอมรวมอะตอมไฮโดรเจนให้กลายเป็นฮีเลียม
Inertial Confinement Fusion (ICF) เป็นโครงการวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น เเละเป็นเทคนิคในการควบคุมปฏิกิริยาฟิวชั่นโดยการใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปที่เม็ดเชื้อเพลิงเทอร์โมนิวเคลียร์ (Thermonuclear Fuel) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน จนมีอุณหภูมิเเละความดันสูงขึ้นเกิดเป็นปฏิกิริยาฟิวชั่น ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์มีขนาเดเล็กลง เนื่องจากเชื้อเพลิงมีลักษณะเป็นเม็ดทรงกลมขนาดประมาณหัวเข็มหมุด โดยทั่วไปจะมีส่วนผสมของดิวทีเรียม (Deuterium) และทริเทียม (Tritium) ประมาณ 10 มิลลิกรัม ซึ่งทั้งสองเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกของ LLNL ได้ตั้งสมมติฐานว่าสามารถใช้เลเซอร์เพื่อกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นในห้องปฏิบัติการได้ นำโดยนักฟิสิกส์ จอห์น นัคคอลส์ ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ LLNL ตั้งแต่ปี 2531 ถึง 2537 แนวคิดที่ปฏิวัติวงการนี้ได้ถูกเรียกว่า “Inertial Confinement Fusion” ได้เริ่มต้นจากการวิจัยและพัฒนากว่า 60 ปี ในด้านต่างๆ เช่น เลเซอร์ ออปติกส์ การวินิจฉัย การสร้างเป้าหมายสำหรับบรรจุเชื้อเพลิง การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เเละคอมพิวเตอร์ และการออกแบบการทดลอง เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
🚩 เเหล่งที่มาของข้อมูลเเละรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: facebook.com/netzerotechup
Blockdit: blockdit.com/netzerotechup
Tiktok: tiktok.com/@netzerotechup
Twitter: twitter.com/NetZeroTechup
Instagram: instagram.com/netzerotechup
Youtube: youtube.com/@netzerotechup
コメント