ปัจจุบันยังมีคนสับสนและเข้าใจไม่ถูกต้องระหว่างคำว่า “คาร์บอนเครดิต” และ “สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ถือเป็นสิ่งที่สามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ทั้งคู่ แต่การได้มาซึ่งสินค้าที่เราเรียกว่าคาร์บอนเครดิต หรือ สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีกระบวนการขั้นตอนแตกต่างกัน วัตถุประสงค์ในการใช้ก็ไม่เหมือนกัน ราคาซื้อขายจึงไม่เท่ากัน เช่น ราคาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Allowance ภายใต้ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU-ETS)
🚩 คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บ ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” หรือในระดับโครงการ เป็นกลไก “ภาคสมัครใจ” มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ
กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว จากนั้นผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้
ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR โดยซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเวนต์ และระดับบุคคล
ส่วนผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิต/บริการใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการเข้าร่วมทำโครงการของผู้พัฒนาโครงการ หากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษ
🚩 สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance)
คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) หรือ Cap and Trade ซึ่งเป็นกลไกประเภท “Site Based” หรือ “Facility Based” ในระดับองค์กรที่ใช้กำกับดูแลผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของประเทศให้ลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
โดยส่วนใหญ่ภาครัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลระบบ ETS จะใช้กลไกดังกล่าวใน "ภาคบังคับ" ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรสิทธิฯ ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ พร้อมกับเป้าหมายในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากโรงงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสิทธิฯ ที่ตนเองมี จะต้องไปซื้อสิทธิจากโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเป้าหมาย หรือ สิทธิฯ ที่ได้รับนั้นเอง
ในทางกลับกันโรงงานที่มีสิทธิฯ เหลือ สามารถขายสิทธิฯ ได้ เพราะหากองค์กรที่อยู่ในระบบ ETS ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ และไม่ส่งมอบสิทธิฯ คืน (Surrender) ต่อผู้กำกับดูแลระบบ ก็จะมีบทลงโทษ เช่น สหภาพยุโรป (EU-ETS) ปรับ 118.27 US$/tCO2eq สหราชอาณาจักร (UK-ETS) ปรับ 112.72 US$/tCO2eq และประเทศเกาหลีใต้ (Korea ETS) ปรับ 86 US$/tCO2eq
ดังนั้น การมีบทลงโทษปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงกว่าราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต
🚩 แหล่งที่มาของข้อมูล:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: Net Zero Techup
Blockdit: https://www.blockdit.com/netzerotechup
Comments