top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนNet Zero Techup

♻️ ครั้งเเรกของไทย! BCP ร่วมกับ KBANK ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง Carbon Credit


บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เดินหน้าส่งเสริมธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการอ้างอิงการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit Linked FX Forward Contract ครั้งแรก ในประเทศไทย


ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ได้มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่อ้างอิงเป้าหมายด้านการสนับสนุนกิจกรรมด้าน ESG ตั้งแต่ปี 2564 ในครั้งนี้ธนาคารต่อยอดการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการออกสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อ้างอิงคาร์บอนเครดิตของคู่สัญญา “Carbon Credit Linked FX Forward Contract” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยหากคู่สัญญามีธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนตามที่กำหนด


ก่อนหน้านี้ บางจากฯ ได้ร่วมกับพันธมิตร รวม 11 องค์กร ได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club ในปี 2564 เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 530 รายทั้งประเภทองค์กรและบุคคล มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs และ Renewable Energy Certificates (RECs) รวมกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และล่าสุดได้พัฒนาเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมขององค์กร (Carbon Footprint Tracking for Organization: CFO) เพื่อให้สมาชิกทดลองใช้งาน


🚩 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

เริ่มต้นได้มีการกำหนดประเภทของสินค้าและตัวแปรไว้จำนวนน้อย (สินค้า 3 ประเภท ได้แก่ หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ ตัวแปร 4 ประเภท ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์) ส่งผลให้เกิดการใช้ช่องว่างของกฎหมายให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อ้างอิงกับสินค้าและตัวแปรที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งทำให้การกระทำดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทำให้ไม่มีหน่วยงานในการกำกับดูแล


อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของกฎหมายได้กำหนดให้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศเพิ่มเติมประเภทสินค้าและตัวแปร จนกระทั่ง 29 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการกำหนดสินค้าและตัวแปรตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพิ่มเติม รวม 14 ประเภท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่

1. กลุ่มโลหะมีค่า ได้แก่ เงิน แพลทินัม

2. กลุ่มโลหะอื่น ได้แก่ ทองแดง สังกะสี เหล็ก อะลูมิเนียม และดีบุก

3. กลุ่มสินทรัพย์อื่น ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และพลาสติก

4. กลุ่มตัวแปร ได้แก่ ค่าระวาง #คาร์บอนเครดิต และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์


🚩 Forward Contract คืออะไร?

สัญญาที่ลูกค้าและธนาคารตกลงซื้อเงินตราต่างประเทศสกุลหนึ่ง และขายเงินตราต่างประเทศอีกสกุลหนึ่ง โดยกำหนดจำนวนเงิน สกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และวันที่ทำการส่งมอบล่วงหน้าที่แน่นอน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่กำหนดนั้น ไม่ใช่อัตราตลาดในอนาคต โดยในวันที่ทำการส่งมอบ อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าอาจสูงหรือต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด ณ วันที่ส่งมอบก็ได้


🚩 ธุรกรรมรองรับ (#Underlying) คืออะไร?

ตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ธุรกรรมที่เป็นการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจะต้องมีธุรกรรมระหว่างประเทศรองรับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมการค้า การบริการ การกู้ยืม และการลงทุนระหว่างประเทศที่ท่านได้ตกลงกับคู่สัญญาไว้แล้ว เช่น คำสั่งซื้อสินค้า การจ่ายคืนเงินกู้ต่างประเทศ เป็นต้น


🚩 การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (#Hedging) คืออะไร?

ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศนั้น ต้องมีการตกลงกันเรื่องสกุลเงินที่จะใช้ค้าขาย ไม่ว่าจะเงินบาท เงินสกุลของประเทศนั้นๆ หรือจะใช้สกุลเงินกลาง เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งการใช้สกุลเงินอื่นๆ นอกจากเงินบาท จะมีความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ ที่จะส่งผลไปถึงต้นทุนและกำไรของธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงก็สามารถใช้บริการการทำสัญญาซื้อขายเงินล่วงหน้าได้


🚩 แหล่งที่มาของข้อมูล:


ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


Post: Blog2_Post
bottom of page