🚩 โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย และส่งผลกระทบมาถึงภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ อุณหภูมิที่สูงขึ้นราว 2 – 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จะทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบราว 11 – 18% ดังนั้น นานาชาติจึงกำหนดเป้าหมายสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มใช้มาตรการจูงใจให้มีการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาสในธุรกิจคาร์บอนเครดิต
ปัจจุบันองค์กรชั้นนำทั่วโลกมีนโยบายยึดหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนและไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ 100% หรือหากทำได้ก็มีต้นทุนที่สูงมากจนไม่สามารถเเข่งขันได้ ดังนั้น จึงมีการออกแบบ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการซื้อขายเเทน คือให้ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินเกณฑ์กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเคดิตจากบริษัทที่มีส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้การขายคาร์บอนเครดิตกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก
🚩 ปัจจุบันประเทศไทยมีตลาดคาร์บอน 2 โครงการ ได้แก่
✅️ 1. โครงการ Renewable Energy Certificate (REC) เป็นใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รองรับโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ที่ให้ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น เเสงอาทิตย์ ลม น้ำ เเละขยะ สามารถสร้างรายได้เพิ่ม จากการขายใบรับรองแก่บริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการลด Carbon Footprint จากการปล่อยทางอ้อม เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน และความเย็นในโรงงาน รวมถึงการเดินเครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยซื้อขายได้โดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC)
✅️ 2. โครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) พัฒนาขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่งจะมีการรับรองรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทลดหรือกักเก็บได้จากการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม การจัดการของเสีย การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่า และการจัดการในภาคขนส่ง เป็นต้น โดยจะสะสมเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อขายให้กับบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่กำหนด โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
🔹️️ 2.1 การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
🔹️ 2.2การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด
🚩 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) จึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่คือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติให้ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดย FTI มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เเละบริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด (BlockFint) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขาย แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า FTIX (FTI : CC/RE/REC X Platform)
โดยศูนย์ซื้อขาย FTIX จะอยู่บนแพลตฟอร์ม Energy Trading ในชื่อ Gideon ที่พัฒนาโดย BlockFint (ฟินเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561) อีกทั้งยังสามารถซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ด้วยเช่นกัน โดย FTI เเละ TGO ได้ลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 เเละได้นำแพลตฟอร์ม FTIX เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC) เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือ โดยคาดว่าศูนย์ซื้อขาย FTIX จะเปิดให้บริการสำหรับนิติบุคคลก่อนในไตรมาส 1 ปี 2566
🚩 นอกจากเเพลตฟอร์ม FTIX เเล้ว ก่อนหน้านี้ กลุ่มบางจากฯ เเละพันธมิตรรวม 11 องค์กร ได้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club (CMC) เพื่อทำการการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน โดยมีการลงนามความตกลงในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตร 11 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ประกอบด้วย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท บีบีจีไอจำกัด (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด,
บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด, ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน),
บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด, และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน CMC มีจำนวนสมาชิก 40 ราย (ประเภทนิติบุคคล 28 ราย และประเภทบุคคล 12 ราย)
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 กลุ่มบริษัทบางจากฯ เปิดเผยว่า หลังจากก่อตั้ง CMC มาครบ 1 ปี มียอดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (T-VER) และยอดขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) ผ่าน CMC ณ เดือนกรกฎาคม 2565 คิดเป็น T-VER 218,167 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ REC 127,934 MWh หรือคิดเป็นปริมาณเทียบเท่ารวมประมาณ 277,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (ประมาณการเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้อายุ 10 ปี กว่า 32 ล้านต้น) ใกล้เคียงกับตัวเลขซื้อขาย T-VER ที่มีการรายงานตลอดทั้งปีในปี 2564 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความสนใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สูงขึ้น เป็นผลดีกับตลาดในประเทศไทย ที่ข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่ามีอุปทานมากกว่าอุปสงค์อยู่หลายเท่าตัว
🚩 ที่มาของข้อมูลเเละรูปภาพ:
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: facebook.com/netzerotechup
Blockdit: blockdit.com/netzerotechup
Tiktok: tiktok.com/@netzerotechup
Twitter: twitter.com/NetZeroTechup
Instagram: instagram.com/netzerotechup
Youtube: youtube.com/@netzerotechup
Comments